วางแผนลดหย่อนภาษี 2565 ตอนนี้มีแต่ได้? เนื่องจากภาษีเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตจนมีคำกล่าวว่า “ภาษีกับความตายคือสองสิ่งที่คนเราหลีกหนีไม่ได้” แต่การวางแผนลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณมีแต่ได้กับได้ คือ ได้จ่ายภาษีน้อยลงและบางคนอาจได้รับเงินคืนกลับมาด้วย
บทความนี้ Plan Your Money จะพาไปทำความรู้จักการวางแผนลดหย่อนภาษีและรวมรายการค่าลดหย่อนภาษี ปี 2565 ที่สามารถใช้สิทธิได้มาให้คุณแล้ว
เริ่มต้นวางแผนลดหย่อนภาษียังไง
เนื่องจากบุคคลที่มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือฟรีแลนซ์จำเป็นต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำทุกปี ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน ยิ่งมีรายได้มากก็ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามไปด้วย การวางแผนภาษีเพื่อการลดหย่อนอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ทุกคนสามารถเริ่มวางแผนภาษีล่วงหน้าแบบง่ายๆ ตั้งแต่ต้นปีด้วยการนำรายได้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง และโบนัสของปีที่แล้วมาใช้คาดการณ์รายได้ที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงในปีนี้ จากนั้นนำมาหักค่าลดหย่อนต่างๆ ที่สามารถใช้สิทธิได้ เพื่อหาเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได โดยทั่วไปมีสูตรการคำนวณภาษีขั้นพื้นฐาน 2 สูตรที่คุณควรรู้ ได้แก่
1. สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิ = รายได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
2. สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจากเงินได้สุทธิ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
ศึกษารายละเอียดและวิธีการคำนวณภาษีเพิ่มเติมได้ที่ ภาษีง่ายๆ คำนวณได้ด้วยตัวคุณเอง
หรือถ้าใครไม่ถนัดคิดเลข สามารถใช้เครื่องมือวางแผนภาษี เพื่อความสะดวกรวดเร็วและแม่นยำได้เลย
ค่าลดหย่อนภาษี ปี 2565 มีอะไรบ้าง
การวางแผนลดหย่อนภาษี 2565 อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างไรบ้าง เมื่อรู้วิธีการคำนวณหาอัตราภาษีของปี 2565 ที่คาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายในเบื้องต้นแล้ว เรามาดูกันต่อว่ากฎหมายได้เปิดช่องให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทใดได้บ้าง
1. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ใช้สิทธิได้ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์หนึ่งครั้ง โดยต้องแนบเอกสารหลักฐาน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันภาวะตั้งครรภ์จากสถานพยาบาลด้วย
- กรณีที่ตั้งครรภ์สองครั้งในปีเดียวกันจะได้สิทธิลดหย่อนแยกกันครั้งละไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนการตั้งครรภ์ลูกแฝดถือเป็นการตั้งครรภ์ครั้งเดียว
- กรณีที่การฝากครรภ์และคลอดบุตรเกิดขึ้นคนละปี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีภาษี แต่จะลดหย่อนรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี
- กรณีที่สามีภรรยายื่นภาษีร่วมกัน ให้คนที่ยื่นภาษีหลักเป็นคนใช้สิทธินี้ แต่ถ้าสามีภรรยาแยกกันยื่นภาษี ผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนนี้ต้องเป็นฝ่ายภรรยาเท่านั้น
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมที่มีการจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม
- บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปีและกำลังศึกษาอยู่ ถ้าอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป ต้องมีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ในกรณีเป็นบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปและเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- บิดามารดามีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
- ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา เช่น บิดามารดาจดทะเบียนสมรส หรือบิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ส่วนบุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้
- กรณีบิดามารดามีบุตรหลายคน ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำซ้อนระหว่างพี่น้องได้ ต้องทำหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ระบุว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบิดามารดา เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
- ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- ผู้พิการหรือทุพพลภาพจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- กรณีคนพิการต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ส่วนคนทุพพลภาพ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันถึงภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพหรือทุพพลภาพ
- ต้องทำหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04) เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
- กรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน เช่น ผู้มีเงินได้มีบุตรเป็นผู้พิการสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งค่าลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ
- ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
- ถ้ามีผู้กู้ร่วม สิทธิประโยชน์จะเฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้ เช่น สามีภรรยากู้ซื้อบ้านร่วมกัน จ่ายดอกเบี้ยตามจริงไป 100,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าดอกเบี้ยบ้านได้คนละ 50,000 บาท
- เอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่ สำเนาสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับรองหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยจากเจ้าหนี้จำนอง
- ค่าลดหย่อน “ช้อปดีมีคืน 2565” เป็นโครงการกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศของภาครัฐ โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2565 ด้วย
- ผู้มีเงินได้สามารถนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)
2. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทการออมและการลงทุน
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 9,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
- กรณีผู้มีเงินได้ทำประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ตนเองสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตจากกรมธรรม์ทุกฉบับรวมทั้งประกันแบบสะสมทรัพย์มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาใช้ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
- กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
- หากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกและจะต้องเสียภาษีส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยทางภาษีย้อนหลังเพิ่มเติมด้วย หากในอดีตเคยใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตจากกรมธรรม์นั้นไปแล้ว
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของตนเอง
- ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี
- เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและประกันแบบสะสมทรัพย์ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพทั้งของบิดามารดาตนเองและบิดามารดาของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี
- บิดามารดาทั้งของตนเองและของคู่สมรสต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี หรืออาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทต่อปี กรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
- กรณีใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญบางส่วนไปหักลดหย่อนในส่วนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือมาหักลดหย่อนตามเงื่อนไขของค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
3. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ แล้ว
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลของรัฐ ใช้ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ แล้ว
- เงินบริจาคพรรคการเมือง ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
สรุป
การวางแผนลดหย่อนภาษีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมในการเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ตรงเวลา ป้องกันปัญหาการชำระภาษีล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนซึ่งอาจทำให้ต้องเสียค่าปรับโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ การวางแผนภาษีที่ดียังช่วยให้คุณใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้อย่างเต็มที่ ทำให้คุณเสียภาษีน้อยลงหรืออาจได้รับเงินคืนกลับมาใช้ประโยชน์ด้านการลงทุนและวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณได้อีกด้วย